25510121

+ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี

.+ [ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ] +.






ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี มีนามเดิมว่า คอร์ราโด เฟโรจ
(Professor Corrado Ferocil) เป็นชาวนครฟลอเรซ์ ประเทศอิตาลี
เกิดเมื่อวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2435 ณ ตำบล San Giovanni
บิดาชื่อ นาย Artudo Feroci และมารดาชื่อ นาง Santina Feroci
มีอาชีพค้าขาย เข้าศึกษาในระดับชั้นประถมเมื่อปี พ.ศ. 2441
ภายหลังจบหลักสูตร 5 ปี จึงเข้าศึกษาในโรงเรียนมัธยมอีก 5 ปี
จากนั้นจึงเข้าศึกษาทางด้านศิลปะในโรงเรียนราชวิทยาลัยศิลปะแห่งนครฟลอเรนซ์
จบหลักสูตรวิชาช่าง 7 ปีในขณะที่มีอายุ 23 ปี และได้รับประกาศนียบัตรช่างปั้นช่างเขียน
ซึ่งต่อมาได้สอบคัดเลือกรับปริญญาบัตรเป็นศาสตราจารย์ มีความรอบรู้ทางด้าน
ประวัติศาสตร์ศิลป์วิจารณ์ศิลป์และปรัชญา โดยเฉพาะมีความสามารถทางด้านศิลปะ
แขนงประติมากรรมและจิตรกรรม



ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีพระประสงค์จะหาช่างปั้นมาช่วยปฎิบัติราชการเพื่อฝึกฝนให้คนไทย
สามารถปั้นรูปได้อย่างแบบตะวันตกและสามารถมีความรู้ถึงเทคนิคต่างๆ ในงานประติมากรรมด้วย
จึงได้ติดต่อกับรัฐบาลอิตาลีขอคัดเลือกนัก ประติมากรที่ชื่อเสียงเพื่อเข้ามาปฎิบัติราชการ
กับรัฐบาลไทย ทางรัฐบาลอิตาลีจึงเสนอนายคอร์ราโด เฟโรจี มาพร้อมทั้งคุณวุฒิและผลงาน
ซึ่งรัฐบาลไทยก็ยินดีรับเข้าเป็นข้าราชการในตำแหน่งช่างปั้นกรมศิลปากร กระทรวงวัง
เมื่อวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2466 เมื่ออายุย่างเข้า 32 ปี โดยได้รับเงินเดือน
เดือนละ 800 บาท ค่าเช่าบ้าน 80 บาท



ต่อมาในปี พ.ศ. 2469 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ช่างปั้นหล่อ
แผนกศิลปากรสถานแห่งราชบัณฑิตยสภา ได้รับเงินเดือนเดือนละ 900 บาท
ต่อมาได้ย้ายมาเป็นช่างปั้น สังกัดอยู่ในกองประณีตศิลปกรรม กรมศิลปากร
กระทรวงธรรมการ ท่านได้วางหลักสูตรอบรมกว้างๆ และทำการสอนให้แก่ผู้ที่สนใจ
ในวิชาประติมากรรมทั้งภาคทฤษฏีและภาคปฎิบัติผู้ไดรับการอบรมรุ่นแรกๆ
ส่วนมากสำเร็จการศึกษามาจากโรงเรียนเพาะช่าง ได้แก่ สาย ประติมาปกร สุข อยู่มั่น ชิ้น
ชื่อประสิทธ์ สวัสดิ์ ชื่นมะนา และแช่ม แดงชมพ ผู้ที่มาอบรม ฝึกงานกับศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและค่าธรรมเนียมทั้งสิ้น เพราะทางราชการมีนโยบายส่งเสริมช่างปั้น
ช่างหล่อ ให้มีคุณภาพและมีมาตรฐาน ซึ่งต่อมาบุคคลเหล่านี้ได้มาเป็นผู้ช่วยช่าง
และบางคนก็เข้ารับราชการช่วยแบ่งเบาภาระ งานและช่วยทำให้กิจการปั้นหล่อ
ของกรมศิลปากรเจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว



เมื่อทางราชการเห็นความสำคัญของการศึกษาศิลปะตามแนวในปัจจุบัน
จึงได้ขอให้ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้วางหลักสูตรการศึกษาให้มีมาตรฐานเดียวกัน
กับโรงเรียนศิลปะในยุโรป ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี จึงเริ่มวางหลักสูตรวิชาจิตรกรรม
และประติมากรรมขึ้นในระยะเริ่มแรกชื่อ "โรงเรียนประณีตศิลปกรรม" ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น
"โรงเรียนศิลปากรแผนกช่าง" และในปี พ.ศ. 2485 กรมศิลปากรได้แยกจาก
กระทรวงศึกษาธิการ ไปขึ้นอยู่กับสำนักนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลในขณะนั้น
โดย ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ตระหนักถึงความสำคัญของศิลปะว่า
เป็นวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งสาขาหนึ่งของชาติ จึงได้มีคำสั่งให้อธิบดีกรมศิลปากร
ในขณะนั้นคือ พระยาอนุมานราชธน ดำเนินการปรับปรุงหลักสูตร
และตราพราราชบัญญัติยกฐานะโรงเรียนศิลปากรขึ้นเป็น มหาวิทยาลัยศิลปากร
มีคณะวิชาเดียวของมหาวิทยาลัยศิลปากร เปิดสอนเพียง 2 สาขา วิชาคือ สาขาจิตรกรรม
และสาขาประติมากรรม และมีศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี เป็นผู้อำนวยการสอน
และดำรงตำแหน่งคณบดีคนแรก ดังนั้นการเรียนการสอนศิลปะในสาขาวิชาศิลปะ
จึงเริ่มดำเนินการในระดับปริญญาขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา



ในปี พ.ศ. 2491 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลไทย
ให้นำศิลปะไทยไปแสดง ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในปีนี้ทานได้เดินทางกลับไป
ประเทศอิตาลี และเดินทางกลับมาประเทศไทยอีกครั้งในต้นปี พ.ศ. 2492
โดยกลับมาใช้ชีวิต เป็นครูสั่งสอนลูกศิษย์ลูกหาทางด้านศิลปะอยู่ที่คณะจิตรกรรม
และประติมากรรม ในปี พ.ศ. 2496 ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
ได้รับหน้าที่อันมีเกียรติคือ เป็นประธานกรรมสมาคม
ศิลปะแห่งชาติซึ่งขึ้นอยู่กับสมาคมศิลปะนานาชาติ (International Association of Art)
ในปี พ.ศ. 2497 ได้เป็นผู้แทนศิลปินไทยไปร่วมประชุมศิลปินระหว่างชาติครั้งแรก
ที่กรุงเวนิช ประเทศอิตาลี และในปี พ.ศ. 2503 การประชุมใหญ่ครั้งที่ 3
ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ท่านได้นำเอกสารผลงานศิลปะและบทความศิลปะ
ชื่อศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย (Contemporary Art in Thailand)
ไปเผยแพร่ในการประชุมด้วย ทำให้นานาชาติรู้จัก
ประเทศไทยดีขึ้น และนับเป็นคนแรกที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนศิลปะ
ระหว่างศิลปินต่างประเทศขึ้น

ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ถึงแก่กรรมที่โรงพยาบาลศิริราช
เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2505 รวมสิริอายุได้ 70 ปี


ข้อมูลเพิ่มเติม http://www.basartstudio.com/interview/sil_th.htm
ข้อมูลภาษาอังกฤษ
http://www.basartstudio.com/interview/sil_en.htm

- - - - - - - - - - - - - - - -

ไม่มีความคิดเห็น: